มะเร็งลำไส้เล็ก

TAG:

มะเร็งลำไส้เล็ก
โครงสร้างลำไส้เล็ก

     ลำไส้เล็ก  เป็นท่อกล้ามเนื้อยาวประมาณ 6-10 เมตร (20-21 ฟุต) เริ่มจากปลายสุดของกระเพาะอาหารลงไปจนถึงลำไส้ส่วนต้น  ลำไส้เล็กสามารถสร้างน้ำย่อยออกมาเพื่อย่อยอาหารให้สมบูรณ์  และเป็นแหล่งที่ดูดซึมอาหารมากที่สุด

ลำไส้เล็ก (Small intestine) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ลำไส้เล็กตอนต้น (Duodenum) ส่วนกลาง (Jejurium) และส่วนปลาย (lleum) ดังรายละเอียดดังนี้คือ

   1)ดูโอดินัม (Duodenum) เป็นส่วนต้นของลำไส้เล็กต่อจากกระเพาะอาหาร  ลำไส้ส่วนนี้จะสั้นกว่าส่วนอื่น
   2)เจจูนัม (Jejunum) อยู่ถัดไปจากดูโอดินัม  ยาวประมาณ 8-9 ฟุต ในคนที่ตายแล้วจะพบว่าส่วนนี้จะว่างเสมอ
   3)อิเลียม (Ileum) ส่วนสุดท้ายของลำไส้เล็ก  ตอนปลายจะติดต่อกันเป็นมุมฉากกับลำไส้ใหญ่บริเวณไส้ติ่ง  เป็นส่วนที่ยาวมากที่สุด  มีการดูดซึมอาหารมากที่สุดและมีการย่อยอาหารมากที่สุด

หน้าที่ของลำไส้เล็ก

     คือ ย่อยและดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วเข้าสู่กระแสเลือด  ซึ่งลำไส้เล็กส่วนต้นจะมีบทบาทมากที่สุด  เพราะจะมีติ่งยื่นออกมาเรียกว่า วิลไล (Villi) เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมของลำไส้เล็ก ดังนั้นลำไส้เล็กจึงมีลักษณะพิเศษที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม

สาเหตุ

     ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง  แต่พบอุบัติการณ์ของโรคนี้สูงในกลุ่มคนที่ชอบบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์  ไขมันในปริมาณสูง  ดื่มสุรา  และมีการอักเสบระคายเคือง  หรือมีแผลเรื้อรังบริเวณลำไส้เล็ก  รวมถึงผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้เล็กพบได้น้อย  โดยมักพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

ชนิดมะเร็งที่พบในลำไส้เล็ก
     ชนิดมะเร็งที่พบในลำไส้เล็กมี 5 ชนิด คือ adenocarcinoma, sarcoma, carcinoid tumors, gastrointestinal stromal tumor และ lymphoma
อาการแสดง
     ส่วนใหญ่มักมาด้วยอาการปวดท้อง  ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ  น้ำหนักลด  เป็นไข้  หรือมีภาวะลำไส้อุดตัน  คือ  จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง  อาเจียน  อาจคลำได้ก้อนในบริเวณช่องท้อง

การวินิจฉัย
1.ตรวจอุจจาระ
     ในระยะเริ่มแรกไม่ค่อยมีอาการ  ทำให้ยากที่จะตรวจพบ ในบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงจึงควรตรวจเช็คเสียแต่เนิ่นๆ  ในมะเร็งลำไส้  ควรตรวจเลือดซ่อนเร้นในอุจาระ (Stool occult blood) ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการ อาจเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง  เช่น  เบื่ออาหาร ผอมลง อ่อนเพลีย ต้องเริ่มวิเคราะห์จากอาการที่เป็น ในบางอาการอาจพอที่จะระบุได้ว่าเป็นอวัยวะใด แต่มักไม่จำเพาะว่าต้องเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม

2.การส่องกล้อง
     ด้วยความก้าวหน้าในระบบไฟเบอร์ออปติก (Fiberoptic) แพทย์สามารถใช้กล้องส่องดูระบบทางเดินอาหารบริเวณลำไส้เล็กส่วนบน ลำไส้เล็กและมีการนำระบบอุลตร้าซาวด์มาใช้กับกล้องได้ด้วย ได้แก่
   •การส่องกล้องดูหลอดอาหาร  กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนบน (Esophagastroduodenoscopy)
   •การส่องกล้องดูลำไส้เล็ก ( Enteroscopy)
   •การใช้ระบบอัลตราซาวด์กับการส่องกล้อง (Endoscopic Ultrasonography)

3.การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (CEA)
     การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (carcinoembryonic antigen, CEA) ซึ่งมีประโยชน์ในการติดตามผู้ป่วยมะเร็งลำไส้หลังรักษา  ว่ามีการตอบสนองหรือเกิดซ้ำหรือไม่  ไม่ควรใช้ในการเฝ้าระวังหรือตรวจหาในคนทั่วไป  เพราะไม่มีความไวหรือความจำเพาะเจาะจงเพียงพอ  กล่าวคือ  สารนี้ปกติหรือขึ้นสูงได้ในคนปกติ  และสารนี้อาจปกติได้ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้

4.การวินิจฉัยโรคทางเดินอาหารด้วยการกลีนแคปซูล (Capsule Endoscopy)
     ขั้นตอนการวินิจฉัยเริ่มจากการให้คนไข้กลืนแคปซูลพร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยว  หลังจากนั้นแคปซูลจะเดินทางไปตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร  โดยเริ่มจากปากไปยังหลอดอาหาร  กระเพาะอาหาร  ลำไส้เล็กตอนต้น  ลำไส้เล็กตอนกลาง  ลำไส้เล็กตอนปลาย  ช่วงลิ้นเชื่อมต่อก่อนถึงลำไส้ใหญ่กระพุ้งแรกของลำไส้ใหญ่ และลำไส้ใหญ่ จนถูกถ่ายออกมากับอุจจาระ แคปซูลจะบันทึกภาพภายในระบบทางเดินอาหารซึ่งแพทย์จะนำมาวิเคราะห์ต่อไป
การตรวจวินิจฉัยด้วยการแคปซูลสามารถรายงานผลและประมวลแสดงผลได้อย่างละเอียด  ถูกต้อง  แม่นยำ  และมีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบันขั้นตอนการวินิจฉัยง่าย  สะดวก  และปลอดภัยต่อผู้ป่วย  ที่สำคัญแพทย์สามารถนำผลการตรวจวินิจฉัยไปใช้ประกอบเป็นแนวทางในการบำบัดรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลดียิ่ง

การรักษา
     ในระยะแรกของโรคจะใช้การผ่าตัด  แต่หากไม่สามารถเอารอยโรคออกได้หมดจะใช้การฉายรังสีและการให้เคมีบำบัดร่วมด้วย  เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษา

     การทำการผ่าตัดรักษา  อาจต้องตัดลำไส้ออกจำนวนมากขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรค  ถ้าเป็นการผ่าตัดส่วนของลำไส้เล็กส่วนปลายจะเรียกว่า ileostomy ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่สำคัญของศัลยกรรมระบบทางเดินอาหาร  โดยเป็นการตัดต่อลำไส้และการผ่าตัดยกลำไส้มาเปิดที่ผนังหน้าท้อง

ระหว่างการผ่าตัดลำไส้เล็ก  ศัลยแพทย์อาจต้องทำการตัดต่อลำไส้และนำลำไส้ส่วนปลายเปิดไว้ที่ผนังหน้าท้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดการอุดตันของลำไส้ส่วนปลาย หรือเกิดการอักเสบเน่าตายของผนังลำไส้ที่รุนแรงและกินบริเวณกว้าง 

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง