คาร์โบไฮเดรตกับโรคมะเร็ง

TAG:

 คาร์โบไฮเดรตกับโรคมะเร็ง

อาหารหลักของคนไทยที่มาตั้งแต่โบราณ คือ ข้าว ถ้ามาดูในองค์ประกอบของข้าวนั้นจะเห็นว่าเป็นสารพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก  คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานกับร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว  ผลไม้ จะถูกย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคส (Simple Sugar) ก่อน แล้วถูกดูดซึมเพื่อร่างกายนำไปเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานเพื่อการทำงาน คาร์โบไฮเดรตจึงเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย โดยการให้กลูโคสแก่เซลล์ต่างๆ นอกจากให้พลังงานแล้วยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก เช่น กาแลคโตส เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อประสาท น้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบของนม น้ำตาลไรโบส และดีออกไรโบส เป็นส่วนประกอบของกรดนิวคลีอิกซึ่งเป็นสารพันธุกรรม
     ถ้าร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป ตับซึ่งเป็นอวัยวะสะสมไกลโคเจนจะสลายไกลโคเจนเป็นกลูโคสเพื่อนำไปใช้  หรืออาจสร้างจากโปรตีนก็ได้  เรียกกระบวนการนี้ว่า Gluconeogenesis ตราบใดที่เรามีคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ ร่างกายจะเก็บโปรตีนไว้ใช้เพื่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อ คาร์โบไฮเดรตจึงเป็นสารอาหารที่ทำให้ร่างกายเก็บโปรตีนไว้ได้ (Spare  Protien) ในทางกลับกันถ้าร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป กลูโคสมีปริมาณมากขึ้น ฮอร์โมนอินสุลินที่ช่วยในการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ อาจไม่พอเพียง ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นโรคเบาหวาน 
     นอกจากนี้คาร์โบไฮเดรตยังช่วยในการเผาผลาญไขมัน (Fat Metabolism) ให้สมบูรณ์ โดยช่วยให้ Acetyl Co A ถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ถ้าไม่มีคาร์โบไฮเดรตแล้ว Acetyl Co A จะถูกสลายเป็นคีโทน (Ketone) ซึ่งเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้
     ในแต่ละวันคนเราควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตประมาณร้อยละ 55-60 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด เช่น ถ้าต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับ คือ ประมาณ 300 กรัม (2,000 x 0.6  =  1,200 แล้วหารด้วย 4)  และควรได้รับคาร์โบไฮเดรตประเภทใยอาหารด้วยประมาณ 10-13 กรัม ต่อ 1,000 กิโลแคลอรี
     ผู้ป่วยมะเร็งเป็นกลุ่มที่ต้องการพลังงานสูง ควรต้องได้รับการดูแลปรับเปลี่ยนพลังงานและสารอาหารให้เหมาะสม  เพราะการที่ร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้  อีกทั้งร่างกายผู้ป่วยก็จะทรุดโทรม  ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษา หรือไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการต่อสู้กับมะเร็ง  หากผู้ป่วยมะเร็งได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่สมส่วน ร่างกายจะใช้พลังงานจากสารอาหารตัวอื่นแทน ได้แก่ พวกไขมันและโปรตีน โดยร่างกายจะเลือกสลายกล้ามเนื้อออกมา ทำให้ร่างกายทำลายตัวเอง หรือเรียกว่าการกินตัวเอง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเกิดภาวะกล้ามเนื้อเหี่ยวฝ่อลีบลงอย่างเห็นได้ชัด จนสุดท้ายก็จะเข้าสู่ภาวะทุพโภชนาการในที่สุด
ประเภทของคาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรต เป็นสารประกอบของ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน คาร์โบไฮเดรตแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

     1. Simple Carbohydrate ได้แก่ น้ำตาลที่มีขนาดโมเลกุลเล็กพวกโมโนแซคคาไรด์ เช่น กลูโคส ฟรุคโตส กาแลคโตส แลคโตส
     2. Complex Carbohydrate หรือเรียกว่า โพลีแซคคาร์ไรด์ เป็นสารประกอบขนาดใหญ่ ประกอบด้วย หน่วยน้ำตาลโมโนแซคคาไรด์หลายร้อยหลายพันหน่วยปกติ จะไม่มีรสหวาน ได้แก่ แป้ง ไฟเบอร์ ใยอาหารที่พบในพืช เช่น เผือก มัน ข้าวโพด ส่วนในคนและสัตว์ คือ ไกลโคเจน

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง