โรคมะเร็งเต้านม: ความเครียด ตัวการก่อมะเร็งเต้านมหรือเป็นเพียงความเข้าใจผิด

TAG:

ความเครียด ตัวการก่อมะเร็งเต้านมหรือเป็นเพียงความเข้าใจผิด

ความเครียดเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ มีงานวิจัยหลายชิ้นออกมากล่าวถึงอันตรายของความเครียดต่อการเกิดโรคภัยและการเสื่อมโทรมของร่างกายและจิตใจในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าความเครียดอาจมีผลต่อการเป็นมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม,ผลการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและมะเร็งเต้านมเมื่อเร็ว ๆ นี้กลับสร้างความแปลกใจให้กับคณะผู้วิจัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าหลังจากการรักษามะเร็งเต้านมผู้หญิงจำนวนมากสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างดีพวกเธอมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงและมีอายุยืนยาว ในขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 10-33 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งภายในช่วงเวลา 5 ปีของการวินิจฉัย


นักวิจัยคาดว่า มีปัจจัยบางประการที่ส่งผลต่อการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง ได้แก่ จำนวนต่อมน้ำเหลือง,ขนาด,และความรุนแรงของเนื้องอกที่เป็น อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีเนื้องอกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน.แต่ลักษณะของมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงแต่ละคนเป็นอาจแตกต่างกันได้เมื่อเวลาผ่านไปผู้หญิงที่มีเนื้องอกขนาดเล็กและไม่มีต่อมน้ำเหลืองเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกครั้ง ในขณะที่ผู้หญิงที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่และดูเหมือนว่าจะมีอาการรุนแรงและมีต่อมน้ำเหลืองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากกลับมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงดี

เพื่อขจัดข้อสงสัยนี้ นักวิจัยจึงทำการศึกษาหาปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะส่งผลต่อการกลับมาอีกครั้งของมะเร็งเต้านม ในที่สุดนักวิจัยจึงค้นพบถึงสาเหตุของการกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง,นั่นคือ Social Factor และ Emotional Factor หรืออาจเป็นทั้งสองปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ การงาน,การเงิน,หรือสุขภาพร่างกาย ปัจจัยทางอารมณ์ได้แก่ ความเครียด,ความวิตกกังวล,และความรู้สึกหดหู่

ในการวิจัยที่ผ่านมานักวิจัยพบว่า,ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมที่มีความตึงเครียดอันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น ชีวิตสมรสที่ล่มสลาย,การเสียชีวิตหรือการล้มป่วยของคนอันเป็นที่รัก,การมีปัญหาทางด้านการเงิน จะมีแนวโน้มในการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง. ในขณะที่ผู้หญิงที่มีความเครียดจากการใช้ชีวิตน้อยกว่าจะมีแนวโน้มในการกลับมาเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่น้อยกว่า. แต่อย่างไรก็ตาม, จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้กลับพบว่าในสิ่งตรงกันข้ามนักวิจัยไม่พบความเกี่ยวข้องกันระหว่างวิถีการดำรงชีวิตที่ตึงเครียดกับการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้งแต่อย่างใด

เพื่อวิจัยถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างความเครียดกับแนวโน้มการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง นักวิจัยนำอาสาสมัครที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปีที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งเต้านมในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม 1991 และ กรกฎาคม 1994 จำนวน 200 คน อาสาสมัครเหล่านั้นจะเข้ารับการสัมภาษณ์ทุก ๆ 18 เดือน, ถึงวิถีการดำเนินชีวิต,ความตึงเครียด,ความรู้สึกหดหู่,และการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง

ผลการศึกษาพบว่า,ความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้งของอาสาสมัครที่มีความเครียดในเรื่องใด ๆ อย่างน้อยหนึ่งเรื่องเป็นเวลานาน 1 ปีหรือน้อยกว่านั้นจะไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงทั่วไป นอกจากนั้นคณะนักวิจัยยังต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า,ในระยะเวลา 5 ปีหลังจากการวินิจฉัยผู้หญิงที่เครียดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก ๆ จะมีความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้งลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงทั่วไป ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความตึงเครียดไม่มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้ง ในผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกแต่อย่างใด นอกจากนั้นนักวิจัยยังแนะนำอีกว่าความเครียดยังอาจลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกด้วย แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม, เนื่องจากการศึกษาชิ้นนี้แตกต่างจากการศึกษาชิ้นอื่น ๆ ที่ทำมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นคณะนักวิจัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการวิจัยเพื่อศึกษาต่อไปก่อนที่จะสรุปผลการทดลองที่แน่นอนและแม้ว่าความเครียดจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกครั้งก็ตาม แต่การมีชีวิตที่มีแต่ความเครียดก็ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของคุณอย่างแน่นอน นักวิจัยแนะนำว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีคือ,การรู้จักหาวิธีจัดการกับความเครียดที่มีอย่างเหมาะสม,และพยายามลดความเครียดที่มีในแต่ละวันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง