โรคมะเร็งเต้านม: ยาต้านอาการซึมเศร้าทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้จริงหรือ

TAG:

โรคมะเร็งเต้านม:  ยาต้านอาการซึมเศร้าทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้จริงหรือ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การศึกษาทางการแพทย์บางชิ้นได้รายงานถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้ากับการเกิดมะเร็งเต้านม วารสาร British Journal of Cancer,Sharpe et al ฉบับเดือนมกราคม ปี 2002 ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่รายงานถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงต่อการก่อตัวของเซลล์มะเร็งเต้านม อันเนื่องมาจากการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าในปริมาณมาก แต่การศึกษาดังกล่าวรวมไปจนถึงงานชิ้นอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันต่างก็มีข้อจำกัดหลายประการที่สร้างความฉงนแก่ผู้อ่านโดยทั่วไป
นักวิจัยชาวแคนาดาได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการเกิดมะเร็งเต้านมจากการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า กับอาสาสมัครผู้หญิงจำนวน  488 คนเป็นเวลา 18 เดือน โดยก่อนที่การทดลองจะเริ่มขึ้น อาสาสมัครทั้งหมดจะได้รับการตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น การใช้ฮอร์โมน,กรรมพันธุ์, รวมไปจนถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอย่างละเอียดถี่ถ้วน นักวิจัยจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้พิจารณาเพื่อเปรียบเทียบผลการทดลองระหว่างอาสาสมัครที่เป็นมะเร็งเต้านมกับอาสาสมัครที่ไม่ได้เป็น

อาสาสมัครทั้งหมดจะได้รับยาต้านอาการซึมเศร้าในปริมาณที่เท่ากันโดยยาที่มอบให้กับอาสาสมัครเหล่านั้นจะเป็นยาชนิดเดียวกันและไม่มีความต่างกันแต่ประการใดเป็นเวลา 18 เดือน เมื่อการทดลองสิ้นสุดลงนักวิจัยพบว่า มีอาสาสมัครบางคนเป็นโรคมะเร็งเต้านม ในขณะที่อาสาสมัครส่วนที่เหลือยังคงมีสภาพร่างกายที่เป็นปกติ เมื่อพิจารณาผลการทดลองควบคู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่อาสาสมัครแต่ละคนมี นักวิจัยจึงสรุปว่าการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้ามิได้ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงแต่อย่างใด

เนื่องจากการทดลองชิ้นนี้มีขนาดเล็ก และมีข้อจำกัดบางอย่างและในขณะนี้นักวิจัยยังคงทำการศึกษาถึงผลกระทบอันเกิดจากการใช้ยาชนิดนี้กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่อง โดยนำเอาปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อความเสี่ยงเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เราจึงไม่อาจสรุปได้อย่างแน่นอนว่าการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าจะทำให้ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหรือไม่. แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณกังวลว่ายาต้านอาการซึมเศร้าจะทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค การหาทางจัดการกับความรู้สึกดังกล่าว หรือหาทางระบายความตึงเครียดอย่างเหมาะสม ด้วยการเข้าปรึกษาแพทย์ผู้ที่ให้การรักษาน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง