ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ตอนที่ 2

TAG:

ผู้หญิงที่มีอายุน้อยจะมีอาการคลื่นไส้จากการรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาหรือสารเคมีมากกว่าผู้หญิงที่มีอายุมาก

            เมื่อรักษามะเร็งด้วยยาหรือสารเคมี ผู้หญิงอายุน้อยจะมีอาการคลื่นไส้มากกว่าผู้หญิงอายุมาก จากการศึกษาพบว่ายิ่งคุณมีอายุน้อยเท่าใด แนวโน้มที่คุณจะมีอาการคลื่นไส้จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากสมองของผู้หญิงที่อายุยังน้อยจะมีสมองส่วนของความรู้สึกคลื่นไส้ขนาดใหญ่กว่าผู้หญิงที่มีอายุมาก และยิ่งคุณมีอายุมากเท่าใด สมองสั่งการส่วนนั้นจะยิ่งลดขนาดลงเรื่อย ๆ

          หากมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูง ไม่มีวิธีไหนที่จะช่วยได้เลย

            ความจริงก็คือ แม้ว่าจะไม่มีวิธีใดเลยที่จะหยุดหรือกำจัดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมที่คุณเป็นอยู่ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง แต่ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะช่วยลดอัตราเสี่ยงนั้นให้น้อยลง เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตเสียใหม่ ด้วยการลดปริมาณของเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ให้น้อยลง การหยุดสูบบุหรี่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การบำบัดด้วยยา และในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงมาก ๆ การผ่าตัดอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยคุณได้ แต่คุณต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรียบร้อยแล้ว

          การกินอาหารไขมันสูงทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

            จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า อาหารที่มีไขมันสูงไม่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด และถึงแม้ว่าจะยังคงมีการศึกษาถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่าง 2 ส่งนี้อยู่ เรายังคงแน่ใจได้ว่าการหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี และสามารถควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย  อย่างไรก็ตาม น้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน เนื่องจากไขมันที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนภายนอกรังไข่มีมากขึ้น ทำให้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงขึ้น ดังนั้นกาคุณมีน้ำหนักเกินอยู่แล้ว หรือมีแนวโน้มที่จะอ้วนได้ง่าย การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงย่อมเป็นความคิดที่ดี

          ไม่มีทางเป็นมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน หากแม่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีประวัติการเป็นโรค

            ความจริงก็คือ พ่อหรือแม่ที่มาจากครอบครัวที่มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม ต่างก็มีผลต่อความเสี่ยงของการเป็นโรคของคุณเท่า ๆ กัน เนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมครึ่งหนึ่งของคุณจะมาจากแม่ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งจะมาจากพ่อ แต่ลักษณะทางพันธุกรรมที่มาจากพ่อที่มียีนส์มะเร็งเต้านมจะมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านมได้น้อยกว่าของแม่ ดังนั้นในการพิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากยีนส์ของพ่อ ให้คุณพิจารณาญาติฝ่ายพ่อที่เป็นผู้หญิงเป็นหลัก

          การผ่าตัดจะทำให้เชื้อมะเร็งมีการลุกลามมากยิ่งขึ้น

            ผู้ป่วยจำนวนมากพบว่า ภายหลังที่เข้ารับการผ่าตัด เชื้อมะเร็งจะมีการแพร่จากเต้านมไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน พวกเขาจึงเข้าใจว่าการผ่าตัดเป็นการกระตุ้นเชื้อมะเร็งให้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง และลุกลามไปทั่วจนควบคุมไม่ได้ แต่ความจริงก็คือ การผ่าตัดไม่ได้ทำให้เชื้อมะเร็งมีการกระจายตัวมากไปกว่าเดิมแต่อย่างใด การพบเชื้อมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ หลังการผ่าตัด อาจเป็นเพราะเชื้อมะเร็งมีการเติบโตไปยังอวัยวะอื่นอย่างเงียบ ๆ ก่อนที่จะมีการผ่าตัด แล้วเชื้อดังกล่าวค่อยปรากฏชัดเจนเมื่อมีการตรวจพบภายหลัง

          หากผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออก แขนจะเป็นหลุมไปตลอดชีวิต

            การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อาการไม่สบายตามเนื้อตัว อาการชา อาการบวมเรื้อรังเนื่องจากท่อน้ำเหลืองอุดตัน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าอาการลิมฟีดีมา โดยทั่วไปแล้วอาการนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น และความเสี่ยงต่อการเกิดอาการลิมฟีดีมาอาจมากถึงร้อยละ 25 หากคุณมีการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในระดับ 1 2 และ 3 ออกไป หรือมีการฉายรังสีไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นเพิ่มอีกหลังจากการผ่าตัด หรือมีการบำบัดด้วยยาหรือสารเคมีร่วมด้วย การดูแลแขนที่ผ่านการผ่าตัดบวกกับการทำกายภาพบำบัดอย่างพอเหมาะ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการลิมฟีดีมาดังกล่าวได้

          การฉายรังสีเป็นวิธีการบำบัดที่ทำให้รูสึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

            จากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกถึงรังสีที่ใช้ในการรักษามะเร็ง มีผู้ป่วยเพียงไม่กี่คนรู้สึกร้อนหรือปวดคล้ายหนามแทงในบริเวณที่โดนรังสี เมื่อเวลาผ่านไปผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะค่อย ๆ แห้ง มีอาการแสบคันหรือไหม้เกรียม อาการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ก็ไม่รุนแรงมากจนกระทั่งทำให้ผู้ป่วยยอมหยุดการบำบัดเอาไว้กลางคันแต่อย่างใด

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง