วิธีตรวจเต้านมเพื่อหาโรคมะเร็งเต้านม ด้วยตัวเองอย่างง่าย

TAG:

วิธีตรวจหาโรคมะเร็งเต้านม ด้วยตัวเองอย่างง่าย

การตรวจหามะเร็งเต้านม
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้หญิงตรวจเต้านมอย่างน้อยเดือนละครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมคือ 5-7 วันหลังมีประจำเดือนวันสุดท้าย เนื่องจากช่วงนี้เต้านมจะอ่อนนุ่ม แต่เพื่อความแน่ใจว่า ปราศจากสัญญาณอันตรายของมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน คุณอาจให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจเต้านมให้ก็ได้ โดยควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และควรตรวจทุก ๆ 3 ปี ส่วนผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรให้แพทย์ตรวจเต้านมทุก ๆ ปี แต่เพื่อความปลอดภัยที่คุณสามารถทำให้กับตัวเองได้ การตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งที่คุณไม่ควรละเลยโดยให้คุณปฏิบัติดังต่อไปนี้


1.      ยืนอยู่หน้ากระจก ถอดเสื้อออก ยกมือทั้งสองข้างขึ้นประสานกันบนท้ายทอย เปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้าง สำรวจลักษณะโดยรวมระดับของเต้านมทั้งสองข้างเท่ากันหรือไม่ เต้านมมีแผลหรือรอยตำหนิที่ผิดสังเกตหรือไม่ ขนาดของเต้านมทั้งสองข้างเท่ากันหรือไม่ รูปร่างของเต้านมเป็นอย่างไร บิดเบี้ยวหรือเป็นทรงกลมปกติ หัวนมมีลักษณะบิดเบี้ยวหรือไม่ ผิวของเต้านมเรียบเป็นปกติหรือเป็นรอยบุ๋ม

2.      ยกมือซ้ายขวาไว้บนท้ายทอยด้านหลัง ใช้มือขวาคลำที่รักแร้ซ้าย สัมผัสว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่ แบมือขวาออก ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางคลึงเต้านม เริ่มต้นคลึงเต้านมข้างซ้ายเป็นก้นหอยไปรอบ ๆ เต้านมให้ทั่ว โดยเริ่มจากหัวนมแล้วกระจายออกไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ทำ อย่ารีบร้อน สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเต้านม

3.      หลังจากนั้นวางมือขวาไว้บนท้ายทอย ใช้มือซ้ายคลำที่รักแร้ซ้าย สังเกตว่ามีก้อนเนื้อหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือไม่ หลังจากนั้นจึงแบมือซ้ายออก คลึงเต้านมด้านขวาให้ทั่วโดยวนรอบเป็นก้นหอยเช่นเดิม

4.      เมื่อเสร็จแล้ว ก้มตัวลง เอามือจับบริเวณเข่า ปล่อยให้เต้านมห้อยลงมา ใช้มือบีบหัวนมของเต้านมทั้งสองข้าง สังเกตว่ามีของเหลว น้ำนม น้ำเหลือง หรือเลือดออกมาหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดปกติเหล่านี้ ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที

ในการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง คุณสามารถทำได้ทั้งในขณะที่อาบน้ำหรือในห้องน้ำ ให้ใช้มือที่สะอาดในการคลำเต้านม หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ในการช่วยตรวจ เช่น ฟองน้ำหรือถุงมือในคนปกติทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเต้านมทุก ๆ เดือนหรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่ในกรณีที่คนคนนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูง ควรตรวจให้บ่อยครั้งขึ้นและทำอย่างสม่ำเสมอ
  

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง