มะเร็งหลอดอาหาร ( Esophageal cancer )

TAG:

มะเร็งหลอดอาหาร
หลอดอาหารเป็นท่อกลวงทำหน้าที่ส่งผ่านอาหารและน้ำจากลำคอถึงกระเพาะอาหาร ผนังหลอดอาหารมีเนื้อเยื่อจำนวนมาก ประกอบด้วย เยื่อเมือก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มะเร็งหลอดอาหารเริ่มจากเยื่อบุภายในหลอดอาหารกระจายออกมาด้านนอก มะเร็งหลอดอาหาร มักพบในผู้ใหญ่ พบบ่อยเป็นอันดับ 7 ทั่วโลก และพบมากในประเทศที่กำลังพัฒนา พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมากกว่าร้อยละ 90 พบในช่วงอายุ 55-65 ปี

ชนิดของมะเร็งหลอดอาหาร ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ
   - Squamous cell carcinoma เป็นเซลล์แบนบางบนเยื่อบุทางเดินอาหาร พบบ่อยที่สุดในส่วนบนของหลอดอาหาร 
   - Adenocarcinoma cell carcinoma เป็นมะเร็งที่เริ่มขึ้นในเซลล์ มักพบในส่วนล่างของหลอดอาหารใกล้กระเพาะอาหาร

สาเหตุ 
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าเกิดจากการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจจะสัมพันธ์กับ 
   1. เชื้อชาติ พบอุบัติการณ์สูงในประชากรที่อาศัยในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก 
   2. การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มปัจจัยเสี่ยง 
   3. อาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ในหลายอวัยวะรวมทั้งโรคมะเร็งหลอดอาหาร 

อาการและอาการแสดง    - น้ำหนักลด
   - กลืนลำบาก เจ็บเวลากลืน ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วย 
   - ปวดบริเวณด้านหลังของกระดูกหน้าอก
   - อาการอื่นๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ้ามีการลุกลามของโรค ผู้ป่วยอาจจะมีอาการไอเป็นเลือด อุจจาระสีดำ เสียงแหบ หรืออาจคลำต่อมน้ำเหลืองได้ที่คอ เป็นต้น 

การตรวจเพื่อวินิจฉัย 
   1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย 
   2. การเอ็กซเรย์กลืนแป้ง (Barium Swallow) เพื่อตรวจดูภายในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร 
   3. Esophagoscopy คือ การส่องกล้องเพื่อดูภายในหลอดอาหาร หากพบความผิดปกติ ยังมีเครื่องมือที่จะตัดเนื้อเยื่อออกมาตรวจพิสูจน์ได้
   4. การตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นขึ้นตอนที่จะชี้ชัดว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่
   5. ตรวจอื่นๆ อาทิ ตรวจเอ๊กซเรย์เพื่อดูอวัยวะและกระดูกบริเวณทรวงอก อัลตราซาวน์ตับ การตรวจภาพสแกนกระดูก เพื่อดูการแพร่กระจายของโรค 

โรคมะเร็งมะเร็งหลอดอาหาร

ระยะของโรค 
โรคมะเร็งหลอดอาหาร แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 
   • ระยะที่ 1 – ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังอยู่เฉพาะในตัวหลอดอาหาร 
   • ระยะที่ 2 – ก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น ลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 
   • ระยะที่ 3 – ก้อนมะเร็งลุกลามออกมาทะลุเนื้อเยื่อของหลอดอาหาร และมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 
   • ระยะที่ 4 – ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียง หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองไกลๆ หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกได้ ได้แก่ ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น 

การรักษา การรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร มีการรักษาหลัก 3 วิธี คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด 
1. การผ่าตัด       Esophagectomy คือ การผ่าตัดหลอดอาหารบางส่วนออก และเชื่อมต่อส่วนของหลอดอาหารที่เหลือเข้ากับกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะยังคงกลืนอาหารได้ตามปกติ หลอดพลาสติกหรือบางส่วนของลำไส้เล็กอาจถูกใช้เพื่อมาเชื่อมต่อ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงหลอดอาหารจะถูกตัดออกมาตรวจเพื่อหาการกระจายของเซลล์มะเร็ง ถ้าหลอดอาหารตีบเนื่องจากเนื้องอก อาจมีการใส่หลอดโลหะ (stent) เพื่อขยายหลอดอาหารด้วย
     การผ่าตัดใช้ได้ผลดีกับมะเร็งหลอดอาหารระยะต้นๆ และเป็นมะเร็งหลอดอาหารในตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ นอกจากนั้นยังช่วยในการบรรเทาอาการกลืนลำบาก โดยการผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออก แต่ในผู้ป่วยระยะลุกลาม ผู้ป่วยไม่สามารถกลืนอาหารทางปากได้ อาจมีการผ่าตัด โดยการให้อาหารทางสายบริเวณหน้าท้อง เข้ากระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กแทนได้ 

2. การฉายรังสี 
วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี แบ่งได้ 2 ประการ คือ 
2.1 ใช้รักษาเพื่อควบคุมโรค ใช้รักษาในผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มาก และสุขภาพแข็งแรงดี 
2.2 ใช้รักษาเพื่อประคับประคองอาการ ซึ่งจะใช้รักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมะเร็งลุกลามมาก หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการการรักษาเพื่อบรรเทาอาการจากการกลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรืออาการปวด ของการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ 
    การเลือกวิธีฉายรังสีขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ โดยคำนึงจากระยะของโรคและผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป อาจเป็นการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือการฉายรังสีร่วมกับการให้เคมีบำบัด หรือทั้งการฉายรังสี การให้เคมีบำบัด และการผ่าตัด ระหว่างฉายรังสีอาจมีการใส่ท่อพลาสติกเข้าไปในหลอดอาหาร เพื่อไม่ให้หลอดอาหารตีบซึ่งเรียกว่า (Intraluminal intubation and dilation)
3. การให้เคมีบำบัด ลักษณะเช่นเดียวกับการฉายรังสี อาจให้ร่วมกับการฉายรังสี หรือให้ร่วมกับการฉายรังสีและการผ่าตัด คำนึงจากระยะของโรคมะเร็งและผู้ป่วยเป็นรายๆ เช่นกัน

     ระหว่างการรักษาผู้ป่วยต้องให้ความใส่ใจกับภาวะโภชนาการเป็นพิเศษ เนื่องจากมะเร็งในหลอดอาหารทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการกลืน นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงจากการรักษา ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำ หรือทางสายยางเข้าทางจมูกหรือหน้าท้องสู่กระเพาะอาหารโดยตรง จนกระทั่งจบกระบวนการรักษาและผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารทางปากได้

การติดตามการรักษา      เมื่อได้รับการรักษาครบเรียบร้อยแล้ว โดยทั่วไปแพทย์จะนัดติดตามอาการ โดยในช่วง 1-2 ปีแรก หลังการรักษา อาจนัดติดตามอาการทุก 1-2 เดือน ปีที่ 3-5 หลังการรักษา อาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ในปีที่ 5 อาจนัดตรวจทุก 6-12 เดือน

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง