มะเร็งตับอ่อน ( Pancreatic Cancer )

TAG:

 มะเร็งตับอ่อน

ตับอ่อนเป็นอวัยวะขนาดเล็กยาวประมาณ 6 นิ้ว อยู่ลึกภายในช่องท้องระหว่างกระเพาะอาหารและม้าม ติดกับลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) มีบทบาทหลักในกระบวนการย่อยอาหาร โดยตับอ่อนจะหลั่งเอนไซม์ออกมาเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น แล้วร่วมกับน้ำย่อยในลำไส้เล็ก ในการย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตอินซูลินและกลูคากอนซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับอ่อน
  1.ในคนที่สูบบุหรี่จัด มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อนมากกว่า โดยพบว่า 1 ใน 5 (20%) ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนเป็นคนเคยสูบบุหรี่
  2.ในคนที่มีครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน มีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนได้สูงกว่า 
  3.โรคประจำตัวบางชนิด ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน,  ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น  
  4.อาหาร การศึกษาพบว่าการบริโภคไขมัน น้ำตา และเนื้อแดงหรือเนื้อที่ผ่านการแปรรูป ในปริมาณมากเป็นประจำ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงมะเร็งตับอ่อน
  5.น้ำหนักตัวมาก ไม่มีการออกกำลังกาย
  6.ประวัติครอบครัว ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงเสมอไป โดยพบว่ามีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน

อาการและอาการแสดงของมะเร็งตับอ่อน
     อาการของมะเร็งตับอ่อนเมื่อเริ่มเป็นมักไม่มีอาการ และอาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนมะเร็งในตับอ่อน  ส่วนหัว กลาง หรือปลายตับอ่อน ซึ่งพบว่าประมาณ 70-80% เกิดที่ส่วนหัวของตับอ่อน มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมักมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย หากพบว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดรักษา อาการอื่นๆของมะเร็งตับอ่อน ได้แก่ มักมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้นจะไปกดทับทางเดินน้ำดี ทำให้มีตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ ปวดหลังได้ ซึ่งมักเป็นอาการที่พบได้ในโรคทั่วๆ ไปได้เช่นกัน ไม่ใช่อาการเฉพาะของมะเร็งตับอ่อน ถ้าโรครุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการแน่นท้องจากมีน้ำในท้อง เบื่ออาหาร ผอมลง หรือมีอาการจากการที่โรคแพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น อาการปวดกระดูกจากการมีโรคแพร่ไปกระดูก เป็นต้น
 
การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อน
     มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่วินิจฉัยโรคได้ยาก หลังจากแพทย์ซักประวัติ อาการ และการตรวจร่างกายแล้วเกิดข้อสงสัย มักจะทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการทำอัลตราซาวด์ หรือเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์(CT Scan) ดูพยาธิสภาพของตับอ่อน และตับเพราะมะเร็งตับอ่อนกระจายไปตับได้สูง และอาจมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจสารที่เรียกว่า ซี อี เอ (CEA) หรือ ซี เอ 19-9 (CA 19-9) หากอัลตราซาวด์ หรือเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบมีก้อนเนื้อของตับอ่อน แพทย์มักทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อออก เพื่อการรักษา และเพื่อนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา (การตัดชิ้นเนื้อจากตับอ่อนก่อนผ่าตัดเพื่อการพิสูจน์ทางการพยาธิวิทยาก่อนการผ่าตัด มักทำไม่ได้เพราะมีอันตรายค่อนข้างสูง) ว่าใช่มะเร็งตับอ่อนหรือไม่
     นอกจากนี้จะมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม ตรวจปัสสาวะ และภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดูสภาพร่างกายผู้ป่วย และดูว่ามีโรคแพร่กระจายไปปอดและตับหรือไม่

ชนิดของมะเร็งตับอ่อน
  1.อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ส่วนใหญ่ของมะเร็งตับอ่อนจะเป็นชนิดนี้ (90-95%) เกิดจากเซลล์ต่อมมีท่อ มะเร็งเริ่มต้นในเซลล์เยื่อบุในท่อของตับอ่อนซึ่งเป็นท่อลำเลียงเอ็นไซม์เข้าสู่ลำไส้เล็ก
  2.Endocrine pancreatic tumors หรือบางครั้งเรียกว่า Neuroendocrine tumors ชนิดนี้เกิดน้อยมากและรักษายากกว่าชนิดแรก โรคมะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดครายนี้ ยังมีแบ่งย่อยเป็นอีกหลายชนิด อาทิ แกสตริโนมา (Gastrinoma) อินซูลิโนมา (Insulinoma) และกลูคาโกโนมา (Glucagonoma) ทั้งนี้มะเร็งตับอ่อนชนิดเอ็นโดคราย ยังมีได้ทั้งชนิด ไม่สร้างฮอร์โมน และชนิดสร้างฮอร์โมน
  3.Lymphoma of the pancreas เป็นเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เกิดในตับอ่อน ชนิดนี้พบยากมาก 

ระยะของโรคมะเร็งตับอ่อน
แบ่งมะเร็งตับอ่อนเป็น 4 ระยะได้แก่
  -ระยะที่ 1  ก้อนมะเร็งลุกลามอยู่ในตับอ่อนหรืออาจเริ่มลุกลามเข้าลำไส้เล็กส่วนที่ อยู่ติดกัน
  -ระยะที่ 2  มะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อนเข้ากระเพาะอาหารและ / หรือม้ามและ / หรือลำไส้ใหญ่
  -ระยะที่ 3  มะเร็งลุกลามกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว
  -ระยะที่ 4  มะเร็งลุกลามเข้ากระแสโลหิตแพร่ไปยังอวัยวะที่ไกลออกไปที่พบได้บ่อยคือ ตับ

การรักษามะเร็งตับอ่อน
     การรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน ที่สำคัญที่สุด คือ การผ่าตัด ซึ่งเมื่อพบมีโรคลุกลาม การรักษาต่อเนื่อง คือ ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ส่วยยารักษามุ่งเป้ายังอยู่ระหว่างการศึกษา และยังไม่มีรายงานการรักษาโรคนี้ด้วยการปลูกถ่ายตับอ่อน อย่างไรก็ตามการรักษาต้องประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วย แล้วกำหนดการรักษาแตกต่างกันออกไป
  1.กลุ่มที่ทำผ่าตัดได้ คือ ผู้ป่วยที่โรคยังลุกลามไม่มากและมีสภาพร่างกายแข็งแรง เมื่อผ่าตัดแล้วแพทย์จะนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาและถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็จะมีการรักษาเพิ่มเติมโดย คมีบำบัด หรือรังสีรักษาร่วมด้วย 
  2.กลุ่มที่ทำผ่าตัดไม่ได้ คือ กลุ่มที่โรคลุกลามมากแล้วแต่ยังแข็งแรงมักให้การรักษา โดยเคมีบำบัด ร่วมกับรังสีรักษาแต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงการรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

การติดตามผลการรักษามะเร็งตับอ่อน
     การพยากรณ์ของโรคมะเร็งตับอ่อนไม่ดีนัก ผู้ป่วยที่สามารถรักษาผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด มีโอกาสอยู่รอดได้ถึง 3 ปี ประมาณ 30% ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ แต่โรคยังไม่แพร่กระจาย มีโอกาสอยู่รอดได้ประมาณ 1 ปี และผู้ป่วยที่มีโรคแพร่กระจายแล้ว มักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3- 6 เดือน
     อย่างไรก็ตาม เมื่อให้การรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจติดตามโรคและดูแลผู้ป่วยต่อสม่ำเสมอ โดยภายใน 1-2 ปี หลังครบการรักษามักนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ในปีที่ 3-5 หลังการรักษามักนัดตรวจทุก 2-3 เดือน และในปีที่ 5 ไปแล้ว มักนัดตรวจทุก 6-12 เดือน

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง