มะเร็งต่อมลูกหมาก

TAG:

มะเร็งต่อมลูกหมาก

     ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย  อยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะ  ส่วนต้น ต่อมลูกหมากมีลักษณะคล้ายลูกเกาลัดมีฐานกว้าง 4 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร และสูง 3 เซนติเมตร  น้ำหนักในสภาวะปกติจะหนักประมาณ 20 กรัม  มีหน้าที่สำคัญในการผลิตน้ำหล่อลื่น  และหล่อเลี้ยงตัวอสุจิขณะที่มีการหลั่งของน้ำอสุจิ

อาการแสดงของมะเร็งต่อมลูกหมาก     ในระยะที่มะเร็งเริ่มเกิดมักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ต่อเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตใหญ่ขึ้น  จะกดและเบียดท่อปัสสาวะส่วนต้นทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ  ในระยะนี้ผู้ป่วยเริ่มจะมีการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติต่อมาเริ่มปัสสาวะลำบากขึ้น  ต้องเบ่งมากขึ้น  บางคนปัสสาวะไม่ออก  ปัสสาวะเป็นเลือด  หรืออาจมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิในขณะร่วมเพศ
     ในระยะหลังของโรค  มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง  กระดูก  อวัยวะใกล้เคียง  ทำให้เกิดอาการปวดกระดูกสันหลัง  กระดูกเชิงกราน  ปวดหลังและข้อสะโพก อ่อนเพลีย  ซีด  เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  และบางรายอาจเดินไม่ได้เป็นอัมพาต

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
  1. การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) โดยแพทย์สอดนิ้วเข้าไปทางรูทวารหนักเพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก หากเป็นมะเร็งมักคลำได้ก้อนแข็ง
  2. การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือดที่สำคัญ  คือ  พี เอส เอ (Prostate Specific Antigen, PSA) 
  3. การตรวจอัลตราซาวน์ของต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal Prostatic Ultrasound) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง  โดยแพทย์สอดเครื่องมือเข้าทางทวารหนัก หากเป็นมะเร็งสามารถเห็นได้
  4. การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) เมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่สงสัย จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งมักตัดตอนตรวจด้วยอัลตราซาวด์

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
  1. การเฝ้ารอดูอาการ  เหมาะสำหรับมะเร็งที่เริ่มเป็นและผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา
  2. การผ่าตัด (Prostatectomy) มีวิธีการ 3 วิธี ดังนี้
     • radical retro pubic prostatectomy  คือ  แพทย์จะผ่าตัดทางหน้าท้องโดยตัดเองต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลือง
     • radical perneal prostatectomy  คือ  แพทย์ผ่าตัดผ่านทางผิวหนังบริเวณอัณฑะและทวารหนักโดยตัดต่อมลูกหมาก  ส่วนต่อมน้ำเหลืองต้องตัดออกโดยผ่านทางหน้าท้อง
     • transurethral resection of the prostate (TURP)  คือ  เป็นการตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านอวัยวะเพศ  เป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้ปัสสาวะไหลคล่อง  ถ้าผลชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองมีเชื้อมะเร็งแสดงว่ามะเร็งนั้นแพร่กระจายแล้ว
  3. ฉายรังสี (Radiation therapy)  คือ  การให้รังสีรักษาเป็นการให้ในกรณีที่มะเร็งนั้นก้อนขนาดเล็กหรือให้หลังจากผ่าตัดต่อมลูกหมากไปแล้ว  การให้รังสีรักษาอาจจะให้โดยการฉายแสงจากภายนอกหรือการฝังวัตถุอาบรังสีไว้ใกล้เนื้องอก (implant radiation หรือ brachytherapy)
  4. ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal therapy) เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากต้องใช้ฮอร์โมนในการเจริญเติบโต ฮอร์โมนบำบัดจะใช้ในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจาย หรือเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ มีวิธีการรักษาดังนี้
     •การตัดลูกอัณฑะซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย
     •ใช้ยาเพื่อลดการสร้างฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรน (testosterone)  เช่น  leuprolide, gosrerlin, และ buserelin
     •ใช้ยาที่ป้องกันการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen)  เช่น  flutamide และ bicalutamide
     •ใช้ยาที่ป้องกันต่อมหมวกไตไม่ให้สร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) เช่น ketoconazole and aminoglutethimide
  5. เคมีบำบัด (Chemotherapy)  คือ การให้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง  ใช้ในกรณีที่โรคแพร่กระจายแล้ว
  6.ใช้สารที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิหรือภูมิที่สร้างจากภายนอกเพื่อให้ภูมิต่อสู้กับเชื้อโรค
  7.cryotherapy  คือ  เป็นการรักษาใหม่โดยใช้เข็มสอดเข้าในต่อมลูกหมากแล้วฉีดสาร liquid nitrogen  เพื่อแช่แข็งมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้ในกรณีที่ไม่เหมาะในการผ่าตัดผลการรักษายังไม่ยืนยันว่าได้ผลดี

     เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชายซึ่งได้แก่ เทสโตสเตอร์โรน (Testosterone) ซึ่งสร้างจากลูกอัณฑะ (Testis) และต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) โดยฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนจะไปกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากจึงทำได้โดยการกำจัดและป้องกันไม่ให้เทสโตสเตอร์โรนไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโตได้ ซึ่งการจะเลือกวิธีในการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค อายุของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ 

การปฏิบัติตนหลังจากรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
     - ไปตรวจตามกำหนดนัดของแพทย์
     - ติดตามการรักษาโดยการเจาะเลือดหาค่า PSA
     - รับประทานยาและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด  
     - อย่าพยายามเปลี่ยนแพทย์  เพราะจะทำให้ผลการรักษาไม่ต่อเนื่อง

    โดยทั่วไปแล้วผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปแม้ไม่มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะใดๆ ก็ควรจะไปรับการตรวจเช็คต่อมลูกหมากจากแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้  

บทความมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้อง